ประวัติหน่วย


ประวัติมณฑลทหารบกที่ ๓๒
      ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๕ พวกเงี้ยวในมณฑลพายัพได้ก่อการกำเริบเป็นกบฏขึ้นที่จังหวัดแพร่     เป็นแห่งแรก  หัวหน้าเงี้ยวชื่อ  พะกาหม่อง  ร่วมกับ พระยาพิริยพิชัย (เจ้าน้อยเทพวงศ์)  เจ้าผู้ครองนครแพร่ในขณะนั้น   คิดการทรยศเข้ายึดอำนาจการปกครองในจังหวัดแพร่  และฆ่าพระยาชัยบูรณ์  (ต่อมาได้เลื่อนเป็น พระยาราชฤทธานนท์ ข้าหลวงเมืองแพร่) ซึ่งได้ทำการขัดขวางแล้วก่อเหตุลุกลามไปจนถึง  จังหวัดลำปาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ “พลตรีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี” (เจิมแสง – ชูโต) ยศพลตรีในขณะนั้นยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี  ได้แบ่งกำลังเป็น ๒ ส่วน  ส่วนหนึ่งในบังคับบัญชาของท่านเอง  ดำเนินการปราบปรามกบฎเงี้ยวที่เมืองแพร่        อีกส่วนหนึ่งในบังคับบัญชาของ  พ.ต.หลวงพิทธยุทธยรรยง  ยกไปปราบกบฏเงี้ยวที่นครลำปาง
     หลังจากการปราบปรามกบฎเงี้ยวทั้งสองแห่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว  พลตรีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี  ได้เดินทางไปเยี่ยมนครลำปาง และได้หารือกับ  เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ดำริที่จะจัดตั้งกองทหารขึ้นที่จังหวัดลำปางเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นอีกนอกจากนั้นนครลำปางยังเป็นเมืองชายพระราชอาณาเขตซึ่งเป็นศูนย์ติดต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย  ทางเหนือและจังหวัดแพร่  น่าน  อุตรดิตถ์  ทางใต้และทางตะวันออก สมควรให้มีกองทหารตั้งรักษาการณ์อยู่ ซึ่ง เจ้าบุญวาทย์ฯ เห็นพ้องด้วยและพร้อมที่จะให้ความสะดวกทุกประการ หลังจากที่ พลตรีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ยกกองทัพกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้วได้เข้ากราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบในที่สุดได้ทรงมีพระบรม      ราชานุญาตให้จัดตั้งกองทหารขึ้นที่จังหวัดลำปางได้
      กองทหารที่ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดลำปาง  อยู่ในบังคับบัญชาของ  พ.ต.หลวง - พิทธยุทธยรรยง  ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
      พ.ศ. ๒๔๔๘ เจ้าผู้ครองนครลำปาง เห็นว่าที่ตั้งค่ายทหารบริเวณวัดป่ารวกไม่เหมาะสม จึงอุทิศที่ดินของท่านที่ ม่อนสันติสุข ริมฝั่งห้วยแม่กาติ๊บ เป็นที่ตั้งค่ายทหารพร้อมกับปลูกอาคารไม้ให้อีก ๑ หลัง เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว  จึงอพยพเคลื่อนย้ายหน่วยทหารจากวัดป่ารวกมาเข้าที่ตั้งใหม่มาจนถึงปัจจุบัน
      ผู้บังคับหน่วยทหารคนแรกที่เข้ามาตั้งใหม่คือ  พ.ต. หลวงศัลยุทธวิธีกร (เล็ก  ปาณิกบุตร) ต่อมาได้เป็น พล.ท. พระยากลาโหมราชเสนา  ส่วนอาคารไม้หลังแรกที่สร้างขึ้นในครั้งนั้นบัดนี้ยังอยู่และเป็นที่ตั้ง ของ กองบังคับการ ร.๑๗ พัน.๒
      ค่ายทหารที่จังหวัดลำปางแห่งนี้   ได้เจริญและพัฒนามาตามลำดับ   ในที่สุด  เมื่อปี  ๒๔๙๕ ได้พระราชทานนามค่ายว่า ค่ายสุรศักดิ์มนตรี เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่  เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม  แสงชูโต) ซึ่งเป็นแม่ทัพสำคัญในสมัยราชการที่ ๕ ที่ยกกองทัพไปปราบกบฎเงี้ยว และได้มาพักบริเวณค่ายทหารแห่งนี้
 วิวัฒนาการของหน่วย
      พ.ศ. ๒๔๔๕ มีกองทหารเป็นครั้งแรกในจังหวัดลำปาง เรียกชื่อกันโดยทั่วไปว่า กรมทหาร
      พ.ศ. ๒๔๕๓ แปรสภาพเป็น กรมทหารราบที่ ๘
      พ.ศ. ๒๔๕๕ แปรสภาพจาก กรมทหารราบที่ ๘ เป็น กองพันที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๘
      พ.ศ. ๒๔๕๙ แปรสภาพเป็น กรมทหารราบที่ ๑๗
      พ.ศ. ๒๔๖๘ แปรสภาพจาก กรมทหารราบที่ ๑๗ เป็นกองพันที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๑๗
      พ.ศ. ๒๔๗๐ แปรสภาพจาก กองพันที่ ๑ เป็นกองพันที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑๗
      พ.ศ. ๒๔๗๕ แปรสภาพเป็น กองพันทหารราบที่ ๑๓
      พ.ศ. ๒๔๗๘ แปรสภาพเป็น กองพันทหารราบที่ ๓๐
      พ.ศ. ๒๔๘๖ แปรสภาพเป็น กองพันที่ ๓๐ กรมทหารราบที่ ๑๓
      พ.ศ. ๒๔๙๑ แปรสภาพเป็น กองพันที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑
      พ.ศ. ๒๔๙๓ จัดตั้งกองพลที่ ๗ ขึ้นที่จังหวัดลำปาง และได้แปรสภาพหน่วยทหารเป็น กองพันที่  ๒  กรมผสมที่  ๗
      พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับพระราชทานชื่อค่ายว่า “ ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” ตามประกาศแจ้งความ กองทัพบกที่ ๑๐/๖๐๗๙ ลง ๘ เมษายน ๒๔๙๕
      พ.ศ. ๒๔๙๙ ยุบเลิกกองพลที่ ๗ ตั้ง มณฑลทหารบกที่ ๗ ขึ้นแทนเมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๙๙  ( ตามคำสั่งกองทัพบกที่ ๑๖๗/๑๓๔๔๔   ลง  ๙ ก.ค. ๒๔๙๙  )  ส่วนหน่วยทหารแปรสภาพเป็นหน่วยขึ้นตรงของ    กรมทหารราบที่ ๗ ซึ่งกองบังคับการกรมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็น กองพันทหารราบที่  ๒ กรมทหารราบที่ ๗  ปัจจุบันคือ ร.๑๗ พัน.๒ )
      พ.ศ. ๒๕๓๓ ทบ. อนุมัติให้มีการจัดส่วนภูมิภาคใหม่  มณฑลทหารบกที่ ๗  จึงเปลี่ยนนามหน่วยเป็น  มณฑลทหารบกที่ ๓๒  ตามคำสั่ง ทบ. (เฉพาะ)  ลับ  ที่  ๑๒๙/๓๓  ลง  ๑๔ ส.ค. ๒๕๓๓ มีการจัดหน่วย และบรรจุกำลังพล   ตาม  อจย. หมายเลข ๕๑–๒๐๑ ( ๕ ส.ค. ๒๕๓๑ ) จนถึง  ปัจจุบัน
      ความสำคัญของอาคารกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๓๒ (หลังเก่า) ที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดวันเสด็จพระราชดำเนินมณฑลพิษณุโลกและมณฑลพายัพเป็นการแน่นอน ในวันที่  ๖  มกราคม ๒๔๖๙  และตามหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ จะประทับแรมในค่ายทหารลำปาง  วันที่ ๑๐ – ๑๒  และวันที่ ๑๙ – ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙
      ดังนั้น  พันโท พระมหาณรงค์เรืองเดช   ( แปลก  จุลกัณฑ์ )   ซึ่งเป็นผู้บังคับกองพันที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๑๗ อยู่ในขณะนั้นได้เป็นผู้อำนวยการสร้างที่ประทับถาวรขึ้น ในบริเวณค่ายทหาร และจัดปลูกที่พักสำหรับข้าราชบริพาร  สำหรับที่ประทับถาวรนั้น มีขนาดกว้าง ๑๙ เมตร ยาว ๒๕ เมตร สูงจากพื้นดินถึงพื้นชั้นล่าง ๐.๘๐ เมตร สูงจากพื้นชั้นล่างถึงขื่อชั้นบน ๗.๕๐ เมตร พื้น ประตูหน้าต่างทำด้วยไม้สัก อะเสเครื่องบนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง-ไม้สัก ฝาทำด้วยไม้ยมหอม-ไม้สัก คาน ตงทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เสาชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาชั้นบนเป็นไม้เต็งรัง หลังคามุงกระเบื้องซิเมนต์ ขนาด ๙ x ๙ นิ้ว (กระเบื้องว่าว) ตัวอาคารที่ประทับทาสีน้ำมัน  สีฟ้า  สีครีม  สีเหลือง  สร้างโดยกรมยุทธโยธาทหารบก  แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙  ( ก่อนเสด็จพระราชดำเนิน) ราคาก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๖.๐๐๐ บาท ( หนึ่งหมื่นหกพันบาทถ้วน )